ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ.2537 เป็นสาขาของโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ โดยใช้สถานที่วัดบ้านขุนหาญเป็นสถานที่เรียน
ในปี พ.ศ. 2538 ประชาชนตำบลขุนหาญได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราว ในบริเวณวัดบ้านขุนหาญ ให้จำนวน 2 หลัง และปี พ.ศ. 2539 ได้ย้ายมาที่ตั้งปัจจุบัน และประชาชาชาวตำบลขุนหาญ ได้สร้างอาคารชั่วคราวให้จำนวน 2 หลัง ปลายปีการศึกษา 2539 เกิดพายุทำให้อาคารพังเสียหาย จึงซ่อมแซมโดยรวมอาคารเรียนสองหลัง เป็น 1 หลัง (ปัจจุบันคืออาคารเรียนชั่วคราวหลังที่ 1) และได้รับงบจัดสรรอาคารเรียนชั่วคราวเพิ่มอีก 1 หลัง (อาคารพลศึกษา)
ในปีการศึกษา 2540 กรมสามัญศึกษาได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเป็นเอกเทศภายใต้มงคลนาม “ร่มโพธิ์วิทยา” และแต่งตั้งนายพันธุ์ศักดิ์ ทรงกลด ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา
ปี พ.ศ. 2545 โรงเรียนได้รับงบจัดสรรอาคารเรียนแบบ 216 ล (หลังคาทรงไทย) 1 หลัง บ้านพักครู 3 หลัง ห้องน้ำห้องส้วม 2 หลัง
ปี พ.ศ. 2546 โรงเรียนได้ย้ายมาสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล
ปี พ.ศ. 2548 โรงเรียนผ่านการประเมินรอบแรกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) – สมศ. ผลการประเมินมีคุณภาพระดับดีขึ้นไป จากทั้ง 27 มาตรฐาน และในมาตรฐานที่ 18 เรื่อง “สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ผู้ประเมินได้เข้าไปสังเกตการสอน/ดูการเขียนแผนการสอนของครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้พบว่า ครูส่วนมากยังเน้นการสอนแบบเดิม คือเน้นการบรรยายขยายความให้นักเรียนมีส่วนร่วมประมาณ 30-40% การใช้สื่อประกอบการสอนยังน้อย ครูเขียนแผนการสอนทั้งหลักสูตรเก่า (พ.ศ.2521/ปรับปรุง 2533) และหลักสูตรใหม่ (หลักสูตร 2544) ยังใช้เทคนิคไม่หลากหลาย สถานศึกษาควรจัดประชุมแบบ “Open Space” ให้จัดประชุมครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
ปี พ.ศ. 2550 โรงเรียนได้ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชมรมผู้ปกครองและครูโรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550
ปี พ.ศ. 2553 โรงเรียนเข้ารับการประเมินภายนอกรอบสอง จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) – สมศ. ผลการประเมินมีคุณภาพระดับดีขึ้นไป จากทั้ง 12 มาตรฐาน ยกเว้นมาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ผลการประเมินอยู่ในระดับ ปรับปรุง ซึ่งโรงเรียนมีข้อเสนอแนะจากการประเมินภายนอกรอบแรกและให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน มีการจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยจัดกิจกรรมแข่งขันทักษะทางวิชาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เข้าค่ายวิชาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมเสริมทักษะเฉพาะด้าน จัดหาสื่อและนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน สอนซ่อมเสริม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการซ่อมเสริมตามหลักสูตรให้กับครูและผู้เรียน ฯลฯ
ปี พ.ศ. 2558 โรงเรียนเข้ารับการประเมินภายนอกรอบสาม จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) – สมศ. ผลการประเมินมีคุณภาพระดับดีขึ้นไป จากทั้ง 12 มาตรฐาน ยกเว้นมาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ผลการประเมินอยู่ในระดับ ปรับปรุง ซึ่งโรงเรียนมีข้อเสนอแนะจากการประเมินภายนอกรอบแรกและให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน มีการจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยจัดกิจกรรมแข่งขันทักษะทางวิชาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมเสริมทักษะเฉพาะด้าน จัดหาสื่อและนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน สอนซ่อมเสริม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการซ่อมเสริมตามหลักสูตรให้กับครูและผู้เรียน ฯลฯ
ข้อมูลผู้บริหารสถานศึกษาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
1. นายสุริยนต์ บุตรศรี (ผู้อำนวยการ โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ สาขาตำบลขุนหาญ) ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2537-2540
2. นายพันธุ์ศักดิ์ ทรงกลด (ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ) ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2540 – 2551
3. นายอรุณ ชื่นตา ผู้อำนวยการฯ ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2551 – 2558
4. นายธงชัย เหมเกียรติกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2558 ถึง
8 ตุลาคม 2561
5. นายสราวุธ สมรัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2561 ถึง
1 พฤศจิกายน 2565
6. นายประหยัด แก้วพิลึก ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 ถึง ปัจจุบัน